ร่วมพิธีเฉลิมฉลอง “12 ธันวาคม วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ปี 2566” ณ กระทรวงการต่างประเทศ
ช่วงบ่ายวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พร้อมก้วย ดร.วริศา พานิชเกรียงไกร ดร.สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย ดร.จอมขวัญ โยธาสมุทร และนายพุฒิปัญญา เรืองสม นำทีมตัวแทนจาก IHPP ร่วมพิธีเฉลิมฉลอง “12 ธันวาคม วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ปี 2566” ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ในการนี้ได้มีการกล่าวถ้อยแถลงของบุคคลสำคัญ ที่ต้องการมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงสำคัญว่า "ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานโครงการริเริ่มนโยบายการต่างประเทศกับสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health : FPGH) คนต่อไป และผู้สมัครรับเลือกตั้งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยจะยังคงสนับสนุนการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับมาตรฐานสูงสุดที่บรรลุได้ของสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อสานต่อในการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นการคุ้มครองประชากร"
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงสองทศวรรษ ประเทศไทยได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเป้าหมาย “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และตระหนักดีว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นส่วนที่นำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้เตรียมการเพื่อยกระดับสู่ “30 บาท Upgrade” เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที รวมถึงการขยายบริการและสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นอย่างครอบคลุม และยังเรียกร้องให้ทุกคน ทุกภาคส่วนและทุกประเทศ ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามการรณรงค์ในปีนี้ และขอย้ำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน และมีความจำเป็นสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติด้านสุขภาพที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาได้ อย่างในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา
นางสาวเจรัลดีน อ็องซาร์ หัวหน้าภารกิจองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย (IOM Thailand) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมายถึงบริการสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค รวมถึงผู้อพยพและกลุ่มเปราะบาง โดยในการประชุม FPGH ที่นิวยอร์ก ปี 2565 ประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับผู้ย้ายถิ่นเป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญา ตามเป้าหมายหลักที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาแม้ว่าในประเด็นนี้จะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ผู้ย้ายถิ่นยังคงเผชิญกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ นับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรครึ่งหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และราวหนึ่งในสี่กำลังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ประเทศไทยวันนี้ได้ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแล้ว ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มข้น และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลง จึงเป็นเหตุผลที่คนไทยได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยความท้าทายใหม่ด้านสุขภาพรออยู่จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “องค์การอนามัยโลกมีความยินดีที่จะสนับสนุรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในทุกๆ ประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและได้รับการยอมรับในเวทีโลก จนนำมาสู่การรับรองมติวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลในปี 2560 และทั่วโลกได้มีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”