[Site Visit] ถ่ายทอดความรู้ ในประเด็น Global Health
ในวันพฤหัสบดี ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายแพทย์เกษมสุข โยธาสมุทร นายแพทย์ชำนาญการ กองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ นำนักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการและนักจัดการงานทั่วไป และ นศพ. ณัฐณิชา มานะบริบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาเรียนรู้การดำเนินงานด้านสุขภาพโลก โดยมี ดร.วริศา พานิชเกรียงไกร นักวิจัย หัวหน้ากลุ่มงานด้านสุขภาพโลก สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้งานด้านสุขภาพโลก
ดร. วริศา กล่าวว่า สุขภาพโลกไม่ใช่ประเด็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคหรือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม ทุกสิ่งอย่างจะกระทบไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO โดยมีแหล่งทุนจากทั้ง WHO, UN, และ Non-member state เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งสามารถผลักดันประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนทั่วโลกให้การยอมรับ
โดยเป้าหมายการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพโลกของประเทศไทยนั้น ทั้งเป็นการร่วมมือกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ขับเคลื่อนประเด็นวาระให้เกิดสุขภาวะที่ดีของประชากร ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลกอีกด้วย และที่สำคัญเป็นการสร้างเครือข่ายให้ประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเด็นวาระอื่นๆ เพื่อให้เกิดการมีสุขภาพที่ดี ครอบคลุมและยั่งยืน
ในการขับเคลื่อนประเด็นด้านสุขภาพโลกนี้ ประเทศไทยใช้หลักการ outside-in and inside-out ดังนี้
Outside-in คือการที่เอาข้อมติหรือข้อหารือจากการประชุมบนเวที WHO ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ นำมาพัฒนาและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนไทย
Inside-out คือ การนำเสนอประเด็นของประเทศที่ประสบความสำเร็จ นำเสนอในที่ประชุมระดับนานาชาติ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ดร.วริศา ยังได้แบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพต่างๆ ของประเทศไทยที่ผ่านมา เช่น UHC, AMR, และ Mental health รวมไปถึงแผนการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพของประเทศไทยในปีถัดไป ซึ่งประเทศไทยจะขับเคลื่อนในเรื่องของ AMR และ Social Participation ซึ่งจะมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้เล่นหลัก